หากพ่อได้เฝ้าดูพัฒนาการทางภาษาของลูกรัก จะพบว่าช่วงเวลา 0-3 ปี คือ ช่วงเวลาสำคัญของพัฒนาการที่น่ามหัศจรรย์มาก คือ ช่วงของหน้าต่างแห่งโอกาส (Window of Opportunity) ที่จะพัฒนาการทางภาษาของลูกรักได้เลย แต่จะทำอย่างไรดีละ? ไม่ต้องกังวลใจไป เรามีวิธีง่ายๆ ที่จะช่วยกระตุ้นพัฒนาการทางภาษาให้ลูกรัก
แนะนำโดยนักจิตวิทยาบำบัด แดเนียล บรู๊คส์ มาฝากกันครับ
1 ผลัดกันพูด
วิธีนี้จะช่วยสอนให้ลูกรู้จักการสนทนา ด้วยการตอบสนองลูก สมองของลูกจะจดจำรูปแบบการพูดก่อนและหลัง และเด็กๆ จะเรียนรู้ว่าเสียงที่พวกเขาเปล่งออกมาจะได้รับความสนใจจากพ่อแม่ ตัวอย่างเช่น ถ้าลูกส่งเสียงเรียก หรือพูดอะไรบางอย่าง คุณพ่ออาจตอบสนองลูกด้วยประโยค เช่น “อ้อ เป็นอย่างนั้นเอง ลูกเล่าให้พ่อฟังอีกทีสิครับ” อย่าลังเลเมื่อลูกส่งเสียงพูดอะไรบางอย่าง คุณพ่อควรจะสนใจ มีส่วนร่วม และแสดงตอบสนองลูกน้อย อย่าปล่อยให้โอกาสทองหลุดลอยไป
2 อธิบายทุกอย่างที่คุณพ่อทำ
ถึงจะฟังดูตลกที่คุณพ่อต้องมาอธิบายกิจวัตรประจำวันในทุกๆ เรื่อง เช่น การเปลี่ยนผ้าอ้อม ทีละขั้นตอน แต่ความเป็นจริงแล้วนี่เป็นการขยายการรับรู้ด้านภาษาหรือคลังคำให้กับลูก ภาษาที่คนเรารับรู้ได้มักจะมีมากกว่าภาษาที่เราสามารถพูดได้ ฉนั้นเป็นเรื่องสำคัญมากที่จะเริ่มต้นให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
3 เวลาพูดต้องพูดให้ลูกเห็นริมฝีปากที่ชัดเจน
ทารกเรียนรู้ที่จะพูดด้วยการเรียนแบบเสียงและเลียนแบบการขยับปาก คุณพ่ออาจเห็นลูกจ้องการขยับปากของคุณ นั่นเพราะสมองน้อยๆ ของเขากำลังจดจำรูปแบบของริมฝีปากพร้อมกับเสียงของคุณ เพื่อที่จะพูดออกมาบ้าง
4 หลีกเลี่ยงภาษาแบบเด็กๆ
เพราะการใช้ภาษาของเด็กเรียกสิ่งต่างๆ จะทำให้เกิดการสับสน เช่น หากลูกเรียกนมว่า “แน๊น แน๊น” คุณค่อยๆ บอกเขาว่า “พ่อได้ยินหนูร้องหานม นี่นมนะ นมอยู่ในแก้วของหนูแล้ว” ไม่เพียงเรียกสิ่งของนั้นให้ถูก แต่ควรย้ำชื่อที่ถูกต้องบ่อยๆ เพื่อให้เด็กคุ้นเคยและจดจำ
5 ตอบสนองเมื่อลูกชี้สิ่งต่างๆ
เมื่อลูกชี้สิ่งต่างๆ ก็เพราะเขาอยากรู้จักชื่อสิ่งนั้น นี่เป็นวิธีในการถามคำถาม เช่น เมื่อลูกชี้สิ่งที่อยู่บนโต๊ะ คุณพ่ออาจตอบสนองลูกว่า “ใช่ครับ ของที่อยู่บนโต๊ะคือหนังสือ นี่คือหนังสือ (พูดพร้อมกับหยิบขึ้นมาโชว์) ดูสิหนูเปิด-ปิดหนังสือได้ด้วยนะครับ” และเช่นเคย อย่าลืมย้ำชื่อของสิ่งนั้นซ้ำๆ และตอบสนองลูกอย่างกระตือรือร้น นี่จะเป็นการช่วยกระตุ้นให้ลูกอยากเรียนรู้จักชื่อสิ่งต่างๆ เพิ่มขึ้นอีก
6 ลองใช้ Baby Sign (ภาษามือที่สื่อสารกับลูกรัก)
เครื่องมือที่มีประโยชน์มากในการเรียนรู้ภาษาของลูกก็คือ Baby Sing ไม่เพียงแต่จะช่วยลดความหงุดหงิดในการสื่อสารกันระหว่างพ่อแม่กับลูก แต่สิ่งนี้ยังเชื่อมโยงกับสมองส่วนเดียวกับการพูด ความเชื่อที่ว่า Baby Sing จะทำให้ลูกพูดช้า ไม่จริงหรอกครับ แนะนำว่าให้ใช้คำพูดไปพร้อมกับ Baby Sing และค่อยๆ สอนคำใหม่ทีละคำ อย่ารีบร้อน การให้ลูกจดจำได้นั้นใช้เวลา แต่รับรองว่าคุ้มค่าแน่นอนครับ
7 อ่านหนังสือให้ลูกฟังทุกวัน
การอ่านเป็นการกระตุ้นพัฒนาการด้านความคิดและภาษา นอกจากนี้ยังช่วยพัฒนาการ ความเข้าใจ และความสามารถในการเขียนอีกด้วย โอบกอดลูกไปด้วยขณะอ้านหนังสือ อ่านอย่างตั้งใจ และเลือกหนังสือที่หลากหลาย เท่านี้ก็เป็นการสร้างรากฐานที่สำคัญด้านภาษาให้กับสมองของลูกรักได้แล้วครับ
ขอบคุณที่มาข้อมูล : MY BABY With Babimildclub
“การที่พ่ออยากให้ลูกพูดออกมาได้เร็วนั้น ต้องดูความพร้อมสำหรับลูกด้วยนะครับ การกระตุ้นให้ลูกรักพูดเร็วเกินไปดังใจที่เราต้องการ บางทีอาจต้องค่อยเป็นค่อยไปครับ เพราะธรรมชาติของเด็กยังไง ถ้าได้รับการกระตุ้นตามวิธีดังกล่าวเขาจะพูดได้เอง พ่อไม่ต้องกังวลครับ…”