เด็กสมองดีเพราะมีจินตนาการดี

เด็กสมองดีเพราะมีจินตนาการสูง

เมื่อหลายวันก่อนผมได้พาลูกชายไปดูภาพวาด และผมก็ได้สังเกตุเห็นว่าลูกพูดพึมพำหน้ารูปภาพ จึงอยากทราบว่าเขากำลังคิดอะไรนะ ผมจึงได้ค้นหาข้อมูลก็พบว่า เด็กๆ วัย 1-3 ปี จะมีจินตนาการได้ดี ซึ่งพ่อแม่สามารถช่วยลูกได้มากครับ

หลายคนก็อยากให้ลูกเป็นเด็กมีจินตนาการกันทั้งนั้นหละครับ ถ้าถามว่าทำไม?

อาจจะมีหลายเหตุผล บางคนบอกว่าจะทำให้เขามีความคิดสร้างสรรค์ บ้างก็ว่าทำให้เขาเป็นเด็กมีสุขภาพจิตดี แต่จริงๆ จินตนาการมีข้อดีมากกว่านั้นอีกครับ มีการยืนยันจากผู้เชี่ยวชาญเรื่องเด็กหลายท่านบอกว่า “จินตนาการของเด็ก จะช่วยพัฒนาสมองของเด็กได้”

จินตนาการนั้นดีอย่างไร? เราลองไปดูกัน

1. จินตนาการมีส่วนช่วยพัฒนาสมองของเด็ก ส่วนใหญ่ เรามักเชื่อกันว่าเด็กสมองดี จะเป็นเด็กที่มีจินตนาการดี แต่ในทางกลับกัน จินตนาการต่างหากที่เป็นฝ่ายสร้างสมอง โดยเฉพาะในวัยเด็ก การเลี้ยงดูที่ส่งเสริมจินตนาการจะทำให้สมองพัฒนาได้ดี เมื่อสมองดีแล้ว ถึงจะนำไปสู่จินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ และสติปัญญาที่ดีเป็นลำดับต่อมา

ในการทำงานของสมอง เด็กทารกจะเกิดมาพร้อมกับเซลล์สมองตั้ง 100,000 ล้านเซลล์นะ ซึ่งจะไม่พัฒนาเพิ่มจำนวนขึ้นอีกแล้ว มีแต่จะลดลงเรื่อยๆ จนเป็นผู้ใหญ่แบบเราๆ ก็เหลือแค่ 50,000 ล้านเซลล์เท่านั้นเอง

อ้าว… แปลว่าเราโง่ลงหรือเปล่านะ?

ไม่หรอกครับ เพราะสมองจะดีหรือไม่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนเซลล์เพียงอย่างเดียว แต่ยังขึ้นอยู่กับการเชื่อมต่อของปลายประสาทต่างๆ อีกด้วย

เด็กแรกเกิด เซลล์สมอง 1 เซลล์จะแตกกิ่งก้านสาขาอีกเป็นร้อยเป็นพันไปเกาะเกี่ยวกับเซลล์สมองอื่นๆ ทำให้เกิดการโยงใยเป็นเครือข่าย ทำงานประสานกัน (เหมือนชุมสายโทรศัพท์) ซึ่งการเชื่อมต่อประสานปลายประสาทเหล่านี้ ยิ่งมีมากก็ยิ่งดี เพราะเป็นตัวที่จะชี้ว่าเซลล์สมองมีสมรรถภาพดีมากน้อยแค่ไหนครับ

ในช่วง 3 ปีแรกของชีวิต เซลล์สมองจะมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว จนถึงอายุ 3 ขวบ สมองก็พัฒนาไปกว่า 80% แล้วครับ หลังจากนี้ก็จะชะลอลงเรื่อย ๆ จนถึงอายุประมาณ 10 ขวบ ก็ถือว่าเติบโตเต็มที่ ไม่พัฒนาอีกแล้ว ฉะนั้นพ่อแม่ที่มีลูกอยู่ในวัย 7-9 นี้จะเรียกว่าเป็นโค้งสุดท้ายก็ย่อมได้

ดังนั้น ในช่วงที่ลูกอายุไม่เกิน 3 ขวบ หน้าที่ของพ่อแม่ก็คือทำให้เซลล์สมองได้เติบโตอย่างเต็มที่ แต่หลังจาก 3 ขวบเป็นต้นไป ต้องเน้นที่การรักษาเซลล์สมองให้คงอยู่ และทำให้ปลายประสาทแตกกิ่งก้านสาขาและเชื่อมต่อกันมากยิ่งขึ้น

เซลล์สมองก็เหมือนกับอวัยวะอื่นๆ ในร่างกายนั่นแหละครับ ส่วนไหนถูกใช้งานก็จะเติบโต แต่ถ้าไม่ถูกใช้เลยก็จะฝ่อและจะถูกเม็ดเลือดขาวจับกินหมด ซึ่งการใช้งานในที่นี้ก็คือการถูกกระตุ้นประสาทสัมผัสทั้ง 5 โดยผ่านกิจกรรมและประสบการณ์ต่างๆ ซึ่งจะเป็นอะไรบ้างนั้น เอาไว้ไปว่ากันอย่างละเอียดทีหลังครับ ไปดูประโยชน์ของจินตนาการกันอีกเรื่องก่อนดีกว่า

2. จินตนาการทำให้เกิดความสุขในชีวิต เด็กๆ จะอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขน่ะ ฉลาดอย่างเดียวไม่พอครับ ต้องมีจินตนาการด้วย อย่างแรกเลยก็คือ จินตนาการทำให้เขาไม่จนมุมกับปัญหา

สมมติว่าลูกเราต้องไปงานวันเกิดเพื่อนในอีก 2 ชั่วโมงข้างหน้า ของขวัญก็เตรียมไว้อย่างดีแล้ว แต่ที่บ้านไม่มีกระดาษห่อของขวัญเลยสักแผ่นเดียว หาซื้อก็ไม่ทันเสียด้วย สถานการณ์แบบนี้จะทำยังไงดีครับ?

ถ้าไม่มีจินตนาการ เขาจะรู้สึกทุกข์ใจอย่างมาก ถ้าจะต้องไปงานโดยถือของขวัญที่ไม่ได้ห่ออยู่คนเดียว แต่ถ้ามีจินตนาการ เขาจะมีวิธีการแก้ปัญหาได้มากมายเลยครับ กระดาษห่อของขวัญที่มีโบอยู่ข้างบน ก็จะไม่จำเป็นกับชีวิตเขาอีกต่อไป เพราะเขาสามารถหาอะไรก็ได้มาใช้ห่อของขวัญนั่นเอง

พ่อแม่ก็เป็นส่วนสำคัญที่จะส่งเสริมให้เขาได้จินตนาการด้วยครับ โดยกระตุ้นให้เขาคิดว่าจะทำอย่างไร ให้โอกาสเขาหาคำตอบด้วยตัวเอง ด้วยมุมมองที่ต่างไปจากเดิม เพราะปัญหาต่างๆ ในชีวิต ไม่มีสูตรสำเร็จในการแก้ไขครับ และเมื่อเขาคิดได้ ก็ไม่ใช่ว่า…

“ลูกทำอะไรเนี่ย ไม่เห็นได้เรื่องเลย” แบบนั้นน่ะ จินตนาการจะฝ่อลงทันทีเลยเชียวหละครับ

และเมื่อเด็กๆ เติบโตขึ้น ต้องเผชิญกับปัญหาต่างๆ ในชีวิต เขาก็จะไม่พูดคำว่า”จนมุม” เพราะสำหรับเขาแล้ว ในชีวิตยังมีมุมอีกมากมาย ทางแก้ปัญหาจะไม่ได้มีแค่ทางเดียว แต่จะมีเป็นร้อยเป็นพัน เพราะจินตนาการทำให้เขามีวิธีคิดที่ยืดหยุ่น ไม่ยึดติดอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งครับ

และจินตนาการยังช่วยพาให้คนพ้นไปจากความเป็นจริงบางอย่างในชีวิตที่ตึงเครียดและกดดัน นึกถึงเวลาเครียดๆ เหนื่อยๆ แล้วได้นอนคิดฝันถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ มันก็รู้สึกดีขึ้นมานิดหนึ่งไม่ใช่แล้วหรือครับ?

แต่นอกจากนั้น จินตนาการก็ยังนำไปสู่การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ประดิษฐ์กรรมหลายๆ อย่างในโลก มันก็คือผลพวงจากจินตนาการของคนยุคก่อนหน้าเราทั้งนั้น การฝึกให้ลูกคิดต่างน่ะ จะทำให้เราได้อะไรใหม่ๆ นอกเหนือไปจากสิ่งที่คนอื่นเขาคิดมาก่อนหน้าแล้วด้วยนะครั

ทำอย่างไรให้ลูกมีจินตนาการ?

ถ้าอยากสร้างให้ลูกมีจินตนาการล่ะก็ อันดับแรก พ่อแม่ต้องเชื่อก่อนว่าตัวเองก็มีจินตนาการเหมือนกัน เพราะเราเห็นเด็กทุกคนมีจินตนาการมากมาย แต่พอโตเป็นผู้ใหญ่ หลายๆ คนกลับทำจินตนาการหล่นหายไประหว่างทาง กลายเป็นพ่อเป็นแม่ที่เคร่งขรึม เอาจริงเอาจัง

เคล็ดลับก็คือ พ่อแม่ต้องกล้าที่จะเอาจินตนาการของตัวเองออกมาใช้ก่อนครับ เราถึงจะมีวิธีรับมือกับจินตนาการของลูก และมีวิธีเลี้ยงลูกโดยเสริมสร้างจินตนาการของเขา ถอดฟอร์มของผู้ใหญ่ที่น่าเคารพยำเกรงออกสักระยะ แล้วดึงความเป็นเด็กในตัวเราออกมาให้เด็กๆ ได้เห็นว่าเราเป็นพวกเดียวกับเขา

แล้วมันถึงจะเกิดบรรยากาศที่ทุกๆ คนได้สนุกไปด้วยกัน อาจจะอ่านหนังสือด้วยกัน ทำงานศิลปะด้วยกัน พูดคุยกัน หรือพาลูกไปสู่ประสบการณ์ใหม่ๆ ให้เขาได้สัมผัสกับธรรมชาติ ดูต้นไม้ใบหญ้า ดูนก ดูแมลงแปลกๆ สิ่งเหล่านี้จะส่งเสริมให้เขามีจินตนาการกว้างไกลขึ้น

พ่อแม่หลายคนอาจจะกังวลว่า แล้วถ้าวาดรูปไม่เป็น เล่านิทานไม่เก่ง จะสร้างจินตนาการให้ลูกได้อย่างไร? 

แต่อย่าลืมว่าเราทุกคนต่างก็เคยเป็นเด็กที่มีจินตนาการกันมาก่อนทั้งนั้น เมื่อสิ่งนี้มีอยู่ในตัวเราและตัวลูก ทุกกิจกรรม ทุกนาทีของชีวิตที่เราได้อยู่ด้วยกัน จินตนาการมันจะมาเองโดยธรรมชาติครับ จะนอนดูก้อนเมฆ ตั้งชื่อแมลง หรือไล่จับพระจันทร์ มันก็เกิดจินตนาการได้ทั้งนั้น

เชื่อไหมว่า เด็กๆ อยากฟังนิทานจากเรามากกว่าดูการ์ตูนที่สนุกที่สุดในโลกเสียอีก เพราะนิทานเรื่องนั้น กับเวลาช่วงนั้นมันเป็นสิทธิพิเศษของเขาโดยเฉพาะคนเดียว

จินตนาการมากไป จะอันตรายหรือเปล่า?

โดยวัยและความไร้เดียงสาของเด็กๆ จินตนาการส่วนใหญ่จะเป็นไปในทางที่ดีงามแทบทั้งนั้น อาจจะมีบ้างที่เป็นความคิดแผลงๆ ซึ่งอาจจะไปกระทบกระเทือนความสุขของคนอื่น เช่น การทรมานสัตว์ (ซึ่งในสายตาของเขาอาจจะเป็นแค่การอยากรู้อยากลองเท่านั้นเอง)

ตรงนี้… พ่อแม่จะทำอย่างไร? ถ้าห้ามจะถือว่าจำกัดจินตนาการของลูกหรือไม่?

ก็คงต้องตอบว่าในชีวิตจริง พฤติกรรมนำมาซึ่งผล พฤติกรรมจึงต้องมีกรอบ และกรอบที่แน่นอนก็คือกรอบคุณธรรม ซึ่งไม่เคยเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา เวลาที่เราสอนลูกเรื่องพฤติกรรมจึงไม่ใช่การจำกัดจินตนาการครับ เพราะมันเป็นคนละส่วนกัน พอออกจากนิทาน เราก็ทำหน้าที่ของพ่อแม่

ซึ่งเด็กๆ ก็รับรู้ เข้าใจได้ มันเป็นไปไม่ได้ที่จะเลี้ยงลูกโดยไม่มีกรอบเลย ซึ่งถ้าปล่อยให้เด็กเกิดจินตนาการทางลบซ้ำๆ เขาอาจจะทำขึ้นมาได้ในวันหนึ่ง ซึ่งของแบบนี้ พ่อแม่สังเกตเห็นได้ตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะเขาจะถ่ายทอดออกมาทางคำพูด การเขียน ภาพวาด งานประดิษฐ์ แต่ขึ้นอยู่กับว่าพ่อแม่มีเวลาใกล้ชิดเขามากพอที่จะมองเห็นทันหรือเปล่าต่างหาก

ครับ… เราต้องไม่ลืมว่า เด็กๆ จำเป็นต้องมีเวลามากพอที่จะได้อยู่กับจินตนาการด้วยครับ อย่าปล่อยให้เขาอยู่แต่กับเกมกับทีวีมากเกินไป แต่การจะดึงเด็กออกมา พ่อแม่ก็ต้องหาอะไรชดเชยให้เขาด้วย จะเลี้ยงลูกโดยไม่ลงทุนไม่ลงเวลาอะไรเลย เป็นไปไม่ได้หรอกใช่ไหมครับ สู้สู้ ครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *